Q : : สอบถามเรื่องการ ปรับเปลี่ยน ตัว KPI ที่บริษัทตั้งค่าไว้ของแต่ละตำแหน่ง ควรมีการ update บ่อยแค่ไหนคะ
และใครเป็นคนทำระหว่าง HR กับ หัวหน้างาน
จากคุณ : พรพรรณ
A : : การตั้ง KPI ควรปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการในการประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละรอบหรือแต่ละครั้ง
ซึ่งหมายถึงในช่วงการประเมินแต่ละครั้งอาจมีความต้องการในการประเมินในเรื่องต่างๆ กันก็ได้ไม่จำเป็นต้องซ้ำเรื่อง
เดิมทุกครั้ง เพราะเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไปตัวชี้วัดก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ
คนที่เป็นผู้กำหนดตัวชี้วัดคือผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินตกลงร่วมกัน เพราะเป็นเจ้าของงานจะรู้ดีที่สุดว่าจะ
ต้องการประเมินผลเรื่องอะไรบ้าง ส่วน HR เป็นผู้ประสานงานให้การวัดผลเป็นไปด้วยความยุติธรรมค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : อายุงานมีผลกับการประเมินผลงานมากแค่ไหนคะ ทำไมผู้บริหารบางที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตรงนี้
จากคุณ : จุ๋ม
A : : อายุงานไม่น่าจะมีผลกับการประเมินผลงาน เพราะการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นการมองภาพสองส่วน
คือ พนักงานที่ถูกประเมินมีผลงานอะไรบ้างในปีที่ผ่านมา หรือในช่วงที่ทำการประเมินและเขาปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไร สรุปก็คือเป็นการประเมินผลงาน (Results/KPI) กับความสามารถในการทำงาน (Competencies) การประเมินผลงานในปัจจุบันไม่ใช่การจ่ายค่าตอบแทนเพราะอยู่นาน ที่เรียกว่า pay for seniority อีกต่อไป แต่ควรเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแบบ pay for performance มากกว่าค่ะ
ส่วนอายุงานไม่นำมาพิจารณาในเรื่องผลงานในแต่ละปี แต่ควรนำมาพิจารณาในส่วนอื่นที่นอกเหนือจากการประเมินผลงาน เช่น การให้เงินพิเศษหรือรางวัลจากการปฏิบัติงานนาน เช่น Merit Pay เป็นต้น
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : แนะนำหน่อยค่ะว่าควรทำตัวอย่างไรให้เข้าตาเจ้านาย
จากคุณ : anny
A : : 1. ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ไม่เกี่ยงงาน
2. เสนอตัวช่วยเหลือหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ใช่นั่งรองานมาหา อย่านิ่งดูดาย
3. แสดงความเป็นมิตรกับทุกคนในที่ทำงาน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
4. มีทัศนคติที่ดีกับงานที่ทำและกับบริษัท มองโลกในแง่ดี อยู่ข้างองค์กร ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์กับหัวหน้าหรือบริษัท
5. มีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ ให้เกียรติและอ่อนน้อมถ่อมตน
6. เรียนรู้งานตลอดเวลา สนใจ และต้องช่างสังเกตุ
7. เข้าใจในสิ่งที่ทำ ปรึกษาผู้รู้ถ้าไม่เข้าใจงานอะไรอย่าทำไปแบบส่งๆ
8. ซื่อสัตย์สุจริต
9. ตรงต่อเวลา และรักษาคำมั่นสัญญา
10. พึงระลึกไว้เสมอว่า จงทำงานเพื่องานไม่ใช่ทำงานเพื่อเงิน เพราะคุณจะได้ประสบการณ์ก่อนแล้วสิ่งนี้จึงจะสามารถแลกเป็นเงินได้ ถ้าทำได้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้น่าจะทำให้คุณผ่านการทดลองงานได้แน่ค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ตามเศรษฐกิจครับ ถูกเชิญให้ออกจากงานควรจะได้ค่าตอบแทน 1 เดือนน้อยไปหรือป่าวครับ แต่ผมได้ยินมาว่า
ต้องได้ 3 เดือนถูกต้องหรือเปล่าครับ (ทำงาน 1 ปี)
จากคุณ : พนักงานบริษัท
A : : ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 118 ถ้าคุณทำงานยังไม่ครบ 1 ปี ก็จะได้ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง 1 เดือน แต่ถ้าครบ 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปีก็จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน ลองนับวันทำงานดูว่าไม่ครบหรือครบ 1 ปีกันแน่ และใช้เกณฑ์ที่ว่าในการคำนวณค่าชดเชยค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : เรียนถามอาจารย์ค่ะว่า เงินค่าคอมนำมาเปรียบเป็นค่าล่วงเวลาได้หรือไม่ หากทำงานเกินเวลางานที่กฎหมายกำหนดในแต่ละวัน และนายจ้างถือให้ค่า COM เป็นค่า OT จะทำได้มั้ยค่ะ
จากคุณ : เจน
A : : ดูที่วัตถุประสงค์การให้ก่อน เงินค่าคอมมิชชั่นเวลาให้นำหลักการใดมาคำนวณ เช่น จากยอดขาย หรือจากกำไร ฯลฯ
ส่วนเงินค่า OT มาจากการทำงานล่วงเวลาคำนวณจากค่าแรงปกติ 1.5 เท่า 2 เท่า 3 เท่า เป็นต้น จะเอามารวมกันว่าการจ่ายค่าคอมฯ คือการจ่ายค่าล่วงเวลาฟังไม่ขึ้นค่ะ เพราะการจ่าย จ่ายบนเจตนาที่ต่างกัน ถ้าทำงานเกินเวลาในบางตำแหน่งก็ไม่ได้เงินค่าล่วงเวลา เช่นพนักงานขาย หัวหน้างาน ผู้จัดการ แต่จะได้ค่าตอบแทนอื่นแทน อยู่ที่ตกลงกันค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ขอคำจัดกัดความของคำว่า / วัฒนธรรมองค์กร / และ HR ต้องมีบทบาท จัดการ กับเรื่องนี้อย่างไร ขอคำแนะนำ
จากอาจารย์ด้วยคะ
จากคุณ :พิมพา
A : : วัฒนธรรมองค์กรหมายถึงสิ่งที่ถ่ายทอดกันต่อๆ มาในองค์กรจนเกิดเป็นค่านิยมว่า ที่นี่เขาปฏิบัติกันแบบนี้หรือทำกันแบบนี้ เป็นต้น ฝ่ายบุคคลต้องมีส่วนผลักดันให้ค่านิยมในองค์กรที่ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่การกระตุ้นให้พนักงานเข้าใจและปฏิบัติร่วมกันในค่านิยมเดียวกันซึ่งจะนำพาองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์เดียวกันในที่สุด วัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่คนใดคนหนึ่งในองค์กรเป็นผู้กระทำทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่ต้องการนั้น ๆ เกิดและคงอยู่ต่อไปเพื่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคตค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ในกรณีที่เข้าไปทำงานใหม่ ๆ ที่สำนักงานยังไม่ได้สอนงานอะไรให้เลยแต่พอรู้คร่าว ๆ บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่ในไม่ช้านี้ มีพี่อีกคนนึงในบริษัทที่เขาทำงานเป็นทุกอย่างเขาไม่ใช้วิธีการสอน ใช้วิธีสอนแบบจดในสมุดแทน เขามีอารมณ์ที่แปรปรวนตลอดเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายอาจจะว่าท้องก็ไม่ใช่เพราะที่ทราบมาก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยกินเส้นกับใคร จะทำยังไงดีคะ เพื่อให้ดิฉันทำงานได้เร็วขึ้นโดยเขาไม่สอน โดยดูในสมุดแทน แต่พอมีอะไรเขาก็ทำตลอดแต่ก็ไม่ใช่ว่าแย่งนะคะคือไม่รู้คะทำไม่เป็นด้วย และการเข้ากับอารมณ์เขา แต่ว่าไม่ใช่ว่าดิฉันไม่ปรับนะค่ะ ตัวเขาเองไม่เคยปรับเข้าหาใครเลย ทำอย่างไรดีคะ 2 ข้อนะคะคำตอบ
จากคุณ : a
A : : กฏข้อแรกของการเป็นคนใหม่ในที่ทำงานคือ อย่าคิดหรือคาดหวังว่าจะต้องมีคนมาสอนงานให้ทุกขั้นตอน เพราะชีวิตในงานไม่เหมือนตอนเรียนหนังสือมีคนสอนให้บอกให้ตลอด วันนี้คุณกำลังทำงานเพื่อแลกกับรายได้ในแต่ละเดือนดังนั้นไม่ควรคิดว่าทำไมเขาไม่มาสอนงานฉัน คุณควรใช้วิธีสังเกต ซักถาม สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนหรือพี่ ๆ ร่วมงานเพื่อจะได้เรียนรู้งานด้วยตนเอง อย่าหวังพึ่งคนอื่นมากนัก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าสิ่งใดไม่รู้ก็ควรขวนขวายหาความรู้มาเพิ่มเติม ดีแล้วค่ะที่เขายังมีวิธีสอนแบบจดในสมุดให้ บางแห่งคนใหม่มาทำงานคนเก่าไปก่อนแล้วยังไม่ได้ส่งมอบงานกันด้วยซ้ำ ถ้ามัวแต่รอให้คนสอน ระยะเวลาทดลองงานมีไม่มากนะค่ะ เริ่มหาทางออกด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใครก่อนดีที่สุดค่ะ
กฏข้อที่สองของคนทำงานใหม่ อย่าคิดว่าให้คนอื่นปรับตัว เราต่างหากที่จะต้องเป็นคนปรับเพราะพวกเขาอยู่มานานเราคงต้องปรับไปหาเขาก่อนค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : มีเรื่องอยากรบกวนเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับสวัสดิการของบริษัท (บริษัทของดิฉัน สวัสดิการไม่ดีเลย โบนัสไม่มี เงินเดือนไม่ขึ้น ค่าล่วงเวลาก็ไม่มี เบิกค่าแท็กซี่ก็ยาก) ว่า หากบริษัทมีกำไรจะต้องจ่ายโบนัสให้กับพนักงานหรือไม่ เนื่องจากดิฉันเพิ่งจะทำงานได้ไม่นานมาก ประมาณ 1 ปี แต่ฟังจากที่พี่ ๆ ในบริษัทเล่าให้ฟังว่า บริษัทไม่เคยจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเลย แม้ว่าจะมีกำไรมากแค่ไหนก็ตาม แต่เค้าจะใช้วิธีการปล่อยข่าวช่วงสิ้นปีว่าจะมีการปลดพนักงานออกบ้างบริษัทขาดทุนบ้าง (แต่เค้ามีเงินไปลงทุนทำรีสอร์ท) ทำให้พนักงานไม่กล้าที่จะโวยวาย แต่ใครที่ทนไม่ไหวก็จะลาออกไปเอง ดิฉันมีความรู้สึกว่าพนักงานโดนบริษัทเอาเปรียบ ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ อยากจะลาออกไปหางานใหม่บ้าง แต่ติดที่เพื่อนร่วมงานที่นี่ดีมาก ทำให้ลังเลอยู่ตลอด อยากทราบว่าพอจะมีวิธีไหนบ้างที่จะให้บริษัทมองเห็นคุณค่าของพนักงานมากว่าที่เป็นอยู่ สามารถเรียกร้องให้บริษัทจ่ายโบนัสให้พนักงานบ้างได้หรือไม่ ขอบคุณค่ะ
จากคุณ : janjung
A : : เรื่องโบนัสเป็นสิ่งที่ไม่ได้บังคับในกฏหมายแรงงานว่านายจ้างจะต้องให้พนักงานเมื่อบริษัทมีกำไร ดังนั้นนายจ้างหลายแห่งจึงใช้โอกาสนี้ในการไม่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานแม้ว่าบริษัทจะทำกำไรได้ก็ตาม อันนี้ขึ้นอยู่ความใจกว้างของผู้บริหารแต่ละคนว่าจะคิดเอาเปรียบพนักงานของตนหรือไม่ บริษัทที่เห็นความสำคัญของคนทำงานจะมองว่าเรื่องสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถเก็บคนเก่งและคนดีไว้ในองค์กรได้นานที่สุด เพราะท้ายที่สุดผลที่ได้จะตกกับบริษัทไม่ใช่ตัวพนักงานเลย แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และถ้าเอาเปรียบพนักงานได้ก็จะทำ
สาเหตุทีคนออกจากงานส่วนใหญ่เกิดจาก 5 ปัจจัยหลักคือ
1. ลักษณะงาน
2. หัวหน้างาน
3. ค่าจ้างและค่าตอบแทน
4. โอกาสก้าวหน้า
5. เพื่อนร่วมงาน
โชคดีที่คุณมีเพื่อนร่วมงานที่ดี แต่ถ้ามาถามคนที่ลาออกจากบริษัทคุณคงได้คำตอบไม่หนีจากปัจจัยที่ 3 นี้ การที่บริษัทจะเห็นคุณค่าของคนทำงานหรือไม่ ไม่สามารถกระตุ้นได้จากปัจจัยภายนอก มันคือจิตสำนึกของบริษัทมากกว่า และถ้าบริษัทไม่มี ทำอย่างไรก็ไม่ยอมเสียเงินแน่ การเรียกร้องอาจทำได้ในระดับหนึ่งแต่ที่สุดก็อยู่ที่ความใจกว้างของเขาว่ามีมากน้อยแค่ไหน เขามีจิตที่คิดจะเอามากกว่าจิตที่คิดจะให้ พนักงานก็คงต้องทำใจอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไปละมังค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : เรียนถามอาจารย์ครับ หลังจากพ้น Promotion แล้ว บริษัทจะปรับเงินเดือนให้ แต่ปรับให้แค่นิดเดียวแต่ผมก็เคยถามตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานแล้วว่าหลังจากพ้นโปรฯ แล้วจะปรับให้เท่าไหร่ ทางบริษัทบอกไม่ได้ว่าเท่าไหร่ อย่างนี้พอไปแค่นิดเดียว ผมมีสิทธิ์ขอเพิ่มมากกว่านี้ได้เปล่าครับ ผมเห็นเพื่อนผมบางคนได้ตั้งเยอะ ปกติแล้วมันจะทำมีการระบุในสัญญาเปล่าครับว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนให้เท่าไหร่หลังจากพ้นโปรฯ เพราะของผมไม่เห็นมีระบุ อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับเพราะเผื่อคราวหน้าไปสมัครงานใหม่ จะได้รู้ว่าต้องทำยังไงบ้างครับ ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
จากคุณ : Ake
A : : การปรับเงินเดือนหลังผ่านการทดลองงานเป็นข้อตกลงที่ทำกันก่อนว่าจ้างว่าจะมีการปรับให้หรือไม่ปรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ระบุว่าจะขึ้นให้เท่าใด หรือบางแห่งอาจระบุด้วยว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือนให้หลังพันทดลองงานก็มีการจะขึ้นเงินเดือนให้เท่าไหร่เป็นเรื่องของผลงานในช่วงทดลองงานดังนั้นจะบอกกันล่วงหน้าคงยาก เพราะการขึ้นเงินเดือนไม่ใช่ของตายทำดีทำไม่ดีได้เท่ากัน อย่างนี้ก็ไม่แฟร์กับคนที่ทำงานดี คุณไม่ควรเปรียบเทียบกับเพื่อนว่าเขาได้ตั้งเยอะทำไมเราได้น้อย เพราะอย่างที่บอก ขึ้นอยู่กับผลงาน ปัญหาของคุณคือคนที่มีหน้าที่แจ้งผลการทดลองงานของคุณจะต้องอธิบายให้คุณเข้าใจว่าทำไมได้ขึ้นเงินเดือนน้อย มีผลการประเมินมาให้ดูประกอบหรือไม่ ว่าต้องปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง ปกติแล้วไม่มีใครเขาระบุในสัญญาว่าจ้างกันว่าเมื่อพันทดลองงานแล้วจะได้เท่านี้เท่านั้น ถ้ามีก็ถือว่าเป็นการตกลงเฉพาะราย ส่วนใหญ่มักไม่ระบุเพราะเป็นเรื่องของอนาคตค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : อยากจะทราบความแตกต่างระหว่างสัญญาที่ต่อปีต่อปี กับสัญญาจ้างเป็นลูกจ้างประจำค่ะ พอดีตอนนี้กำลังตัดสินใจ
ที่จะเลือกงานอยู่เลยสงสัยว่า ถ้าเป็นลูกจ้างประจำจะทำให้การลาออกเป็นไปได้ยากกว่าสัญญาปีต่อปีมั้ยคะ พอดีอยากทำงานสักปีนึงเพื่อเอาประสบการณ์ไปเรียนต่อน่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ
จากคุณ : วีวี่
A : : สัญญาปีต่อปี ลูกจ้างอาจเสี่ยงตรงที่เมื่อครบปีการต่อสัญญาอาจมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าจะต้องการต่อสัญญาหรือไม่ ในขณะเดียวกันถ้าไม่ต่อสัญญาลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าชดเชยจากการไม่ต่อสัญญา แต่ถ้าในระหว่างอายุสัญญา 1 ปีหากนายจ้างต้องการเลิกสัญญาจ้างก่อนหมดอายุสัญญา นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจนครบอายุสัญญา เช่น ถ้าทำงานได้ 6 เดือนนายจ้างขอเลิกสัญญาก่อนครบอายุสัญญา 1 ปีนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างของ 6 เดือนที่เหลือให้กับลูกจ้างด้วย ส่วนการจ้างแบบประจำ นายจ้างและลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ แต่ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่เข้าข่ายมาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงานค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : อยากทราบว่าการคำนวนค่าประสบการณ์ให้กับ Candidate ที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งงานนั้นๆ มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง และอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
จากคุณ : jumjim
A : : ควรอิงกับกระบอกเงินเดือนของบริษัท เช่น กระบอกเงินเดือนในตำแหน่งนี้อยู่ที่ 25,000 – 40,000 บาท ประสบการณ์ของตำแหน่งนี้อยู่ที่ 3-5 ปีคุณรับ candidate คนนี้เข้ามาเขามีประสบการณ์ 4 ปี เงินเดือนที่เขาขออยู่ที่ 30,000 บาท ก็อาจกำหนดค่าตำแหน่งเพิ่มอีก 5,000 บาทซึ่งยังอยู่ในงบของเงินเดือน แต่ถ้ารับเงินเดือนในระดับ 35,000 บาทแล้ว ค่าตำแหน่งก็ไม่ควรมีอีก เพราะใกล้กับระดับเงินเดือนของคนที่มีประสบการณ์ 5 ปีเกินไป ซึ่งคนที่มีประสบการณ์ 5 ปีควรจะได้เงินเดือนประมาณ 35,000-40,000 เป็นต้น อีกแหล่งข้อมูลที่อาจใช้อ้างอิงกับตำแหน่งนั้นๆ ก็คือราคาตลาดค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : อยากถามอาจารย์ว่าผมอายุ 47 ปี จบปริญญาตรีด้านสถิติ โท MBA ประสบการณ์ ทำงานด้านการตลาดและฝ่ายขายในหลายอุสาหกรรม เช่น ประกันภัย computer และขนส่งทางเรือ ของบริษัทข้ามชาติ ภาษาอังกฤษใช้ได้ดีทั้งพูดและเขียน ออกจากงานไปทำธุรกิจแล้วกลับเข้ามาทำงาน ปัจจุบันอยู่บริษัทไทย รู้สึกรายได้น้อยกว่าช่วงก่อนออกจากงาน และมอง career path ตัวเองไม่ออกว่าจะไปทางไหน ขอคำแนะนำด้วยครับ
จากคุณ : chaiyuth
A : : เรื่องรายได้คงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีแต่ขาขึ้นไปเรื่อย ๆ บางครั้งในช่วงจังหวะชีวิตหนึ่งก็อาจจะมีขาลงได้บ้างเหมือนกัน อย่าว่าแต่คนเลยค่ะ เศรษฐกิจก็ยังเป็นได้เหมือนกัน เรื่อง career path ที่คุณอยากให้แนะนำคืออะไรค่ะ ถ้าต้องการออกจากที่เก่าไปหางานใหม่จะทำอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือ คงไม่หนีประสบการณ์เดิมที่คุณมีอยู่ เพราะจะขายได้กว่าการคิดจะไปทำอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน ควรเลือกสมัครงานที่มีตำแหน่งสูงขึ้นจากเดิมหรืออย่างน้อยต้องเท่าเดิม เพราะอายุและประสบการณ์ที่คุณมีคุณต้องมั่นใจว่ายังขายได้อยู่ อย่าลดตัวเองลงไปแข่งกับรุ่นหลังความเสี่ยงก็คือ จะมีคำถามตามมาอีกเยอะว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าคุณยอมรับสภาพได้ก็โอเคค่ะ นี่คือความเห็นส่วนตัวดิฉันนะค่ะ หลายคนอาจเห็นไม่ตรงกัน แต่เพราะเห็นมาหลายรายแล้วที่เลือกทำในสิ่งที่ไม่เคยทำและถอยลง เพียงเพราะความคิดที่ว่า ทำ ๆ ไปก่อนดีกว่าไม่มีอะไรทำ ทำให้การหางานใหม่จะยากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในที่สุดค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : การเขียน resume มีขั้นตอนการเขียนอย่างไรค่ะให้น่าสนใจ แนะอย่างย่อพอ ๆ เข้าใจ ขอบคุณมากค่ะ
จากคุณ : สุ
A : : การเขียน resume ที่ดีควรสั้น กระชับและได้ใจความ ความยาวไม่ควรเกิน 2 หน้ากระดาษ A4 ชื่อที่อยู่และเบอร์โทรติดต่อควรชัดเจน และติดต่อได้ทันที ประวัติการศึกษาควรเรียงจากล่าสุดไปยังอดีต ประสบการณ์การทำงานถ้ามีควรระบุตำแหน่งงานที่ทำลักษณะงาน และความสำเร็จในงานนั้น ๆ ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนควรเขียนการฝึกงานหรือฝึกอบรมที่เคยมีด้วยเพื่อประกอบการพิจารณา ไม่ควรระบุเงินเดือนจนกว่าจะมีการร้องขอ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ตอนนี้กำลังจะได้เข้าไปสัมภาษณ์งานในขั้นตอนสุดท้ายกับผู้บริหาร (ในที่นี้ขอเรียกว่า Director) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับเราหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่หัวหน้างานโดยตรง(ขอเรียกหัวหน้างานโดยตรงว่า Senior Manager)
ผมเคยเข้ามาสัมภาษณ์งานกับบริษัทนี้แล้วครั้งหนึ่งในตำแหน่งอื่น ซึ่งเป็นระดับ Manager แต่คนละแผนกกับที่กำลังจะสัมภาษณ์ ในครั้งนั้นผมไม่ผ่านในขั้นตอนสุดท้ายคือกับ Director ทั้ง ๆ ที่ Senior Manager ซึ่งจะเป็นหัวหน้าโดยตรงเองสนใจเราอย่างมาก เหตุผลที่ไม่ผ่านเนื่องจาก โดยทัศนคติ Director ผู้นี้จะตัดสินคนจากการดู Resume ว่าจบมาจากสถาบันดีมั้ย เคยทำงานจากบริษัทใหญ่มั้ย แต่ตัวผมก่อนที่ที่จะมาสมัครครั้งนั้นผมทำ Freelance เป็นลักษณะ Strategy Consult ให้บริษัทต่างๆ เพราะต้องการหาประสบการณ์ในลักษณะที่ไม่ใช่งานประจำ ทำให้ในสายตาของ Director มอง Freelance ไม่ค่อยดีนัก ในลักษณะที่ Freelance จะทำงานกับคนอื่นได้หรือ ??? ทั้งที่ ๆ งานที่ผ่านมาผมทำงานประจำเกือบ 7 – 8 ปี (ข้อมูลเหล่านี้ผมได้มาจากคนในซึ่งผมรู้จักและทำงานให้ Director และ Senior Manager คนนั้น)
ครั้งนี้จะเป็นคนละตำแหน่งหนึ่งแต่ยังคงอยู่ในสายงานที่ผมมีความเชี่ยวชาญเช่นกัน แต่ก็ยังคงอยู่ในฝ่ายของ Director โดยมี Senior Manager อีกท่านหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาปัญหาของผมยังเป็นเช่นเดิมเพราะหลังจากไม่ผ่านครั้งนั้นผมจึงไม่ได้หางานใหม่ประกอบกับมี Consult Project ใหม่เข้ามาซึ่ง Deal เป็นปีและหลังจากจบ Project เพื่อน ๆ ที่ร่วมทำ Project ก็มีงานประจำไปหมดแล้วคงไม่มีเวลาว่างทำงานทำให้ Freelance ยังคงติดอยู่ใน Job Experiences ของ Resume แต่ครั้งนี้ไม่ได้เขียนว่าเป็น Freelance แต่เปลี่ยนเป็นชื่อทีมแทนอย่างไรก็ดี ผมจำเป็นต้องขอคำแนะนำว่า ในการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้งานครั้งนี้นั้นควรจะทำอย่างไร หรือพูดอย่างไรดี เพราะถ้าถามถึงความสามารถในการที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ผมก็เคยผ่านตำแหน่งนี้มาแล้วแต่เป็นคนละ Industry แต่สิ่งที่ผมต้องเจอคือทัศนคติของ Director
สิ่งที่ผมคิดไว้คือเรื่องการขอโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือจาก Director เพราะผมเองสมัครเข้าบริษัทนี้มา 3 ครั้งได้เข้ามาสัมภาษณ์ถึงขั้นสุดท้าย 2 ครั้งรวมครั้งนี้ อีกอันหนึ่งในครั้งนี้ กว่าที่ผมจะได้เข้ามาสัมภาษณฺ์รอบสองต้องใช้ความพยายามมากเพราะมีผู้สมัครมากกว่าครั้งที่แล้ว 2 – 3 เท่า ผมต้องการให้เพื่อนที่รู้จักในบริษัทเข้าไป Lobby Senior Manager, การโทร./ e-mail ไปคุยกับ Senior Manager เพื่อขอโอกาสเข้าไปถึงรอบสอง ตอนนี้มีคนสามารถเข้าถึงคนเดียวและผมอาจจะเป็น
คนที่สอง หรือ สามยังไม่แน่ใจกำลังเช็คอยู่ เหตุที่ต้องเข้าบริษัทนี้เพราะ
1. ตำแหน่งที่ผมเชี่ยวชาญตลาดงานไม่ค่อยมีนักหรือมีก็จะอยู่ใน Level Officer/Supervisor
2. การได้เข้าทำงานที่นี่จะมีส่วนอย่างมากในการสานฝันในการทำงานชิ้นอื่นในวันข้างหน้าที่ผมวางแผนไว้ในชีวิต (ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นจะสานฝันผมไม่ได้ แต่ที่อื่นนั้นไม่เปิดรับ)
จึงเรียนขอคำปรึกษาครับ ด้วยครับว่าวิธีที่ผมอธิบายไปใช้ได้มั้ยหรือมีวิธีอื่นที่ดีกว่าครับ
จากคุณ : BeBe
A : : ถ้าการคุยกับ Director ในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก คุณน่าจะรู้จักเขาบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นสไตล์คำถาม ความคิดของเขา ภาพของคนที่เขาอยากได้มาร่วมงานในฝ่ายถึงแม้ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับเขาโดยตรงก็ตามการเตรียมตัวในรอบนี้สำคัญมากเพราะมีทั้งโอกาสที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจหรืออาจเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขาที่มีต่อคุณว่าไม่น่าจะใช่คุณที่เหมาะกับตำแหน่งนี้ เพราะทัศนคติของ Directorที่มีต่อคุณคือความเชื่อที่เขาประทับไว้ในความคิดแล้วว่าคนที่ทำงาน Freelance สู้คนที่มีงานประจำไม่ได้ ดังนั้นการทำให้เขาเปลี่ยนความเชื่อนี้ต้องใช้เวลาหรือบทพิสูจน์ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเขาจะกล้าเสี่ยงให้คุณเข้ามาร่วมงานด้วยหรือไม่ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ Convince ว่าคุณจะทำได้ กลยุทธ์ที่คุณเล่ามาน่าจะพอใช้ได้สำคัญว่า Senior Manager คนที่คุณจะไปร่วมงานด้วยเป็นคนที่ Director ฟังมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาสามารถหว่านล้อมได้คุณก็อาจได้งานเพราะ Senior Manager ยืนยันหรือรับประกันว่า ถ้าได้คุณมาร่วมงานด้วยจะเป็นประโยชน์กับบริษัทที่สุด พูดง่ายๆ คือถ้าคุณมี back up ที่ดีงานนี้คุณคงสอบผ่าน เพราะลำพังตัวคุณเองจะเปลี่ยนความคิดของ director คงยาก
ระหว่างการสัมภาษณ์คุณควรเน้นความสามารถและประสบการณ์ของคุณที่จะเป็นประโยชน์ต่องาน รวมทั้งความสนใจในตำแหน่งงานนี้ แต่อย่าทำจนเขารู้สึกว่าคุณยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้งานนี้ เพราะจะทำให้อำนาจการต่อรองหายไป อีกอย่างการเป็น Consultant ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับงานนี้เพราะทำให้คุณมีประสบการณ์หลากหลายกว้างกว่าการทำงานที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสมัยนี้บริษัทส่วนใหญ่มักจะใช้การจ้างที่ปรึกษามาทำงานแบบ Outsource กันมากขึ้นเป็นสิ่งใหม่ที่หลายๆ คนยังยึดติดกับการทำงานประจำ และคิดว่าการเป็น Freelancer คือความไม่มั่นคงเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ภาพนี้ถ้า Director ยังเข้าใจผิดอยู่คงต้องหาโอกาสอธิบายให้เขาเข้าใจด้วย เพราะบางคนอยู่กับสิ่งเดิมนานๆ การยอมรับสิ่งใหม่ๆ ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ขอให้คุณโชคดีได้งานนี้อย่างที่หวังนะค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ขอความคิดเห็นว่าการสรรหาผู้บริหาร ควรใช้กลยุทธ์ซื้อตัวจากบริษัทคู่แข่งขัน หรือมีวิธีสรรหา หรือคัดเลือกวิธีอื่นอย่างไรเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านค่าจ้าง เงินเดือน หรือค่าเข้า-ค่าออกของผู้บริหาร
จากคุณ : ปาร์เมศร์
A : : การดึงตัวจากคู่แข่งซึ่งหลายบริษัทนิยมทำกันมากในตอนนี้ เพราะเชื่อว่าการได้ผู้บริหารที่มาจากคู่แข่งในสายงานคล้ายกันจะเป็นสูตรสำเร็จที่สามารถใช้งานได้เลย ถามว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีหรือไม่ คงตอบว่าดีที่สุดหรือไม่ดีไม่ได้ค่ะ เพราะมีทั้งจุดดีและจุดเสียในการดึงตัวมาจากคู่แข่ง จุดดีคือที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสามารถใช้งานได้เลย จุดเสียคือผู้บริหารคนนั้นอาจเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของคุณไม่ได้เพราะแต่ละบริษัทก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และส่วนใหญ่ถ้าผู้บริหารถูกดึงตัวมาและไม่สามารถทำงานให้ได้สาเหตุจะเป็นเพราะเข้ากับระบบการทำงานที่ใหม่ไม่ได้ หรือเข้ากับคนในองค์กรไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มจะเป็นเพราะสาเหตุนี้จะมีค่อนข้างสูง ดังนั้นสิ่งที่จะแนะนำคือการสรรหาระดับบริหารจะต้องมองลึกลงไปถึงความเป็นตัวตนของคนคนนั้นให้ได้ก่อนว่าเขาจะสามารถเข้ากับองค์กรของคุณได้หรือไม่ เป็นต้นว่าการใช้แบบทดสอบด้านบุคลิกภาพ ทัศนคติในการทำงานต่าง ๆ มาเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งนอกจากการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันคำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ต้องรู้จักวางคำถามให้เจาะลึกในตัวเขาให้ได้ เพราะถ้าคุณถามแต่เรื่องประสบการณ์คุณก็จะได้ความรู้สึกว่าเขาน่าจะทำงานนี้ได้ เพราะงานไม่น่าจะแตกต่างจากบริษัทคู่แข่งแน่นอน การสรรหาด้วยวิธีอื่นก็น่าจะลองทำไปด้วยพร้อม ๆ กันเพราะการหาคนที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้สำคัญกว่าเรื่องประสบการณ์ตรงแต่ถ้ามีทั้งสองอย่างได้ก็จะดีที่สุดค่ะ ขอให้โชคดีในการสรรหา
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : รบกวนสอบถามอาจารย์ครับ ผมเป็นผู้บริหารของบริษัท/โรงงานขนาดเล็ก มีพนักงานทั้งหมดไม่ถึง 30 คน ที่จริงแล้ว ตามเป้าหมายของการแบ่งงานของบุคคลากรตามแผนกต่างๆจะแบ่งเป็น ผลิต บริการ ช่าง ธุรการ บัญชี สต็อค บุคคล การตลาด และการขาย แต่เนื่องจากบริษัทเพิ่งเริ่มต้นและธุรกิจยังไม่ขยายตัวมาก ช่วงเริ่มต้นภายใน 6 เดือนแรก ผมจึงทำลักษณะนี้ครับ
1.เพื่อให้พนักงานบริการ และช่างและได้เรียนรู้การทำงานของเครื่องอย่างถ่องแท้ จึงจับให้พนักงานบริการและช่าง เข้าไปเรียนรู้งานตั้งแต่เริ่มไลน์การผลิต และได้รวม ผลิต บริการ ช่าง ไว้ในหน่วยเดียวกันไว้ก่อน โดยแต่งตั้ง Supervisor หรือหัวหน้างาน และผู้ช่วย Sup. ดูแลทั้งหมดในเรื่องของการผลิต บริการ และช่าง ต่อไปจะแยกบริการ ออกจากผลิต
2. รวม ธุรการ บัญชี สต็อค บุคคล ไว้เป็นหน่วยเดียว เนื่องจากงานยังไม่มีอะไรมาก โดยให้มีระดับหัวหน้างาน 1 คน คอยดูแลทั้งหมดดังกล่าว และมีเสมียนช่วย 2 คน หากภายในอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ธุรกิจเริ่มขยายตัว จึงจะแยก บัญชี/สต็อค และ บุคคล/ธุรการ ออกอย่างชัดเจน
3. ฝ่ายขายและการตลาดรวมอยู่หน่วยเดียวกัน โดยมีหัวหน้างานดูแลอยู่
อนึ่ง เนื่องจากบริษัทเรายังมีขนาดเล็ก และค่าจ้างยังไม่สูง จึงไม่สามารถแต่งตั้งเป็นระดับผู้จัดการได้ จึงเรียกเป็นหัวหน้างานไปก่อน หัวหน้างานใน 3 ส่วน ดังกล่าวจะถูกจัดไว้ในระดับเดียวกันเพื่อให้เป็นมาตรฐานของการจ้างงาน และระดับของเงินเดือนที่จะให้
คำถาม
1.เรื่องของการแบ่งแผนกงาน ในแง่ของการบริหารงานบุคคล ช่วงเริ่มต้น ถือว่าถูกต้องไหมครับ จะก่อให้เกิด
ปัญหาอะไรตามมารึเปล่าครับ
2.การแต่งตั้งหัวหน้างานใน 3 ส่วนที่ถูกรวมกันไว้ ใช้ได้รึเปล่าครับ
3.เงินเดือนของหัวหน้างานใน 3 ส่วน พยายามให้อยู่ระดับเดียวกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐาน ถูกต้องไหมครับ
4.บางครั้งผมลงไปสั่งงานเอง ในฝ่ายผลิต และบริการ เพราะไม่ทันใจที่จะรอหัวหน้างาน อันที่จริงผมควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานใช่ไหมครับ
ขอบคุณครับ
จากคุณ : ก่อพงศ์
A : : ข้อมูลที่ให้มาค่อนข้างกว้าง ถ้าจะให้วิเคราะห์โครงสร้างองค์กรจะต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้ และมีคำถามติดตามมาที่คุณในฐานะผู้บริหารต้องตอบในเรื่องของวิสัยทัศน์ด้วยว่าคุณอยากเห็นองค์กรในอีก 3-5 ปีข้างหน้าไปทางไหนโตขนาดไหน การวางแผนเบื้องต้นโดยที่มีความคิดว่าตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นทุกอย่างจึงทำแบบเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยว่ากันทีหลัง ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดมักไม่เกิดวันนี้มันเกิดในวันข้างหน้าเสมอ และมักต้องตามแก้ไขปัญหาเก่าที่ทำไว้ก่อนก้าวต่อไป ถ้าจะถามว่าตอนนี้วางไว้แบบนี้ดีหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าดีหรือไม่ดี เพราะการวางโครงสร้างองค์กรจะเป็นเหมือนบ่อน้ำซึมลึกไปเรื่อยๆ ไม่เห็นอาการในทันที กว่าจะรู้จุดบกพร่องหรือรูรั่วก็เกิดความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะธุรกิจค่ะ
1. การแบ่งแผนกงานที่ว่า ถ้าเปรียบเป็นโต๊ะก็มีสามขา ถามว่ายืนได้ไหม ตอบว่าได้ แต่ไม่มั่นคง ถ้าจะใช้หลักของ Balanced Score Card มาจับ จะเห็นว่าอย่างน้อยต้องมีถึง 4 เรื่องที่ต้องสมดุลกันไม่เช่นนั้นธุรกิจก็จะเดินแบบไม่สมดุล คืออย่างน้อยต้องมี 4 ส่วนหลักในตอนเริ่มต้น แล้วในอนาคตถ้าขยายธุรกิจออกไปค่อยขยาย 4 ส่วนหลักนี้ออกไปย่อมได้ค่ะ 4 ส่วนหลักที่ว่านี้ก็คือ การเงิน การตลาด ระบบปฏิบัติการ และ คน การที่คุณเอาบุคคลไปไว้เป็นงานฝากกับการเงินบัญชีน่าจะทำให้เรื่องบริหารบุคคลอ่อนทันที เพราะคนทำบัญชีไม่ถนัดเรื่องบริหารคนส่วนใหญ่ และจะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาคน การฝึกคน การสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้คนอยู่กับองค์กรได้นานๆ ไม่สร้างปัญหาให้กับองค์กร ฯลฯ อีกเรื่องคือการเอางานบริการไปไว้ในผลิต ไม่ทราบว่าเป็นการบริการแบบไหน ถ้าเป็นการบริการที่ต้องรวดเร็วมีการแข่งขันสูงเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักการไว้ที่ฝ่ายผลิตจะทำให้การบริการไม่ได้เต็มที่เท่าการตลาดที่ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรงตลอดเวลา ประเด็นนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดให้คุณได้ว่าควรเอาบริการไว้ที่ไหนจนกว่าจะได้เข้าใจลักษณะงานที่ทำก่อนค่ะ
2. หัวหน้าทั้ง 3 คนที่เป็นเหมือนแม่ทัพต้องเก่งในเรื่องที่คุณมอบหมายทุกเรื่อง ส่วนใหญ่ปัญหาที่ตามมาคือ คนเราไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง เช่น หัวหน้างานผลิต ต้องดูแลทั้งการผลิต ดูแลช่าง ดูแลบริการ เขาจะมีความสามารถในงานที่แตกต่างกันทั้งสามอย่างหรือไม่ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นผลิตจะคลุกคลีกับเครื่องจักรมากกว่าคน การให้ดูแลงานบริการด้วยเขาต้องชอบอธิบายและบริการคนด้วย หรืองานการเงินให้ดูแลบุคคลคนทำบัญชีชอบเกี่ยวกับตัวเลขแต่คุณกำลังฝากงานเรื่องจุกจิกหยุมหยิมที่เกี่ยวกับคนให้กับหัวหน้างานคนนี้เขาชอบบริหารคนหรือไม่ เป็นต้น
3. เรื่องเงินเดือนที่พยายามให้อยู่ในระดับเดียวกันอันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะค่างานของแต่ละงานไม่เหมือนกันหน้าที่ความรับผิดชอบก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นค่าตอบแทนจะเท่ากันไปได้อย่างไร คนในองค์กรของคุณก็เปรียบเสมือน อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราที่ประกอบกันเป็นองค์กร ถ้าลักษณะธุรกิจของคุณต้องใช้อวัยวะส่วนขาเยอะ แขนปานกลาง ลำตัวเล็กน้อย คุณจะให้ค่างานของอวัยวะทั้งสามส่วนซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้างานของคุณทั้งสามคนเท่ากันคงไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่รับผิดชอบมากกว่าค่ะ
4. เห็นไหมค่ะว่าเริ่มปรากฏเงาของปัญหามาแล้วลางๆ ถ้าคุณไม่ไปสั่งงานเองแล้วใครจะทำค่ะ เพราะเขาไม่ทันใจคุณไงค่ะ ถ้าปล่อยให้เขาทำเองอาจเสียงานก็ได้ ก็ต้องแลกกันระหว่างการล้วงลูกหรือปล่อยให้งานเละเพราะหัวหน้างานทำหลายอย่างเกินไปหรือไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานหรือเปล่า
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ดิฉันจบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษและเพิ่งจบปริญญาโทด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐ มีประสบการณ์ในการทำงาน 3 ปี(ไม่เกี่ยวข้องกับสายงาน HRM) ดิฉันสนใจอยากจะทำงานด้าน HRM โดยเฉพาะในบริษัทที่ปรึกษาของต่างประเทศ จึงขอเรียนถามดังนี้
1. จุดเน้นและความแตกต่างระหว่างงานด้าน HRM ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาของฝ่าย HRM ในองค์กรทั่ว ๆ ไป
2. ไม่มีประสบการณ์ด้าน HRM มาก่อนจะสามารเริ่มงานในตำแหน่งที่ปรึกษาได้เลยหรือไม่ ถ้าไม่ได้ควรมีประสบการณ์กี่ปี
3. จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเป็นผู้ที่จบจากต่างประเทศ
4. แนวโน้มในอนาคตของหน่วยงานงานดังกล่าว
5. คุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทั้งในแง่ความรู้ ทักษะและความสามารถ (เช่น จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในงานหลักของ HRM ทั้งหมดหรือไม่)
6. วุฒิปริญญาโทจบใหม่ เงินเดือนอยู่ที่ประมาณเท่าใด
ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่กรุณาไขข้อสงสัยให้
จากคุณ : ผู้ที่กำลังหางาน
A : : จาก Profile ของคุณ น่าจะหางานได้ไม่ยาก เพราะมีทั้งความรู้ด้าน HRM และภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จำเป็นสำหรับการทำงานเป็นที่ปรึกษาค่ะ
1. งานที่ปรึกษาด้าน HR เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายมาแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับลูกค้า ซึ่งแตกต่างจากงานบริหารงานบุคคลในองค์กรทั่ว ๆ ไป ตรงที่ต้องรู้จักลักษณะงานในบริษัทที่ทำก็พอ แต่ขอบเขตของงานจะกว้างกว่า เช่น ดูแลงาน HR ทั้งหมด
2. งานที่ปรึกษาจะต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป เพราะถ้าไม่มีประสบการณ์ เราจะแก้ปัญหาและแนะนำลูกค้าได้อย่างไร
3. ไม่จำเป็นค่ะ แต่ต้องมีความรู้ ด้าน HR และภาษาอังกฤษดี
4. แนวโน้มงานด้านที่ปรึกษาน่าจะดีค่ะ เพราะช่วงนี้มีบริษัทควบกิจการหลายแห่งและต้องการใช้บริษัทที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างองค์กรค่ะ
5. คุณสมบัติของที่ปรึกษาด้าน HR น่าจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานบริหารงานบุคคลอย่างลึกซึ้งและหลากหลายในธุรกิจ
6.ปริญญาโทในประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป สำหรับต่างประเทศน่าจะอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่จบ และสถาบันการศึกษาด้วยค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : งาน contract ปีต่อปีกับงานประจำ แตกต่างกันอย่างไรในส่วนของสวัสดิการต่าง ๆ ถ้าเราไม่สบายไม่มาทำงานเค้าจะหักเงินเดือนเป็นวันหรือเปล่าคะ แล้วกฎหมายแรงงานคุ้มครองคนที่ทำงานแบบ contract มั้ยคะ
จากคุณ : น้อย
A : : งาน contract แตกต่างจากงานประจำตรงที่สัญญาจ้างงานมีระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดการจ้างงานก็สิ้นสุดลงค่ะ ส่วนงานประจำเป็นการจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง ลูกจ้างก็ทำงานไปเรื่อย ๆ หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง โดยคำนวณตามระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง หากลูกจ้างต้องการออกจากงานก็แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายจ้างเตรียมหาคนมาทดแทน เป็นต้น
ส่วนสวัสดิการนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่ว่างานนั้นจะเป็นการจ้างรายปีหรืองานประจำ หากป่วยไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรือ contract นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างวันที่ลาป่วยตามกฎหมายคุ้มครองค่ะ สวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แปลว่านายจ้างจะให้ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายค่ะ
กฎหมายคุ้มครองแรงงานคลอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทไม่วาจะเป็น รายวัน รายเดือน หรือโคงการ ฯลฯ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : ดิฉันเพิ่งเรียนจบค่ะ กำลังหางานทำ เคยไปสัมภาษณ์มา 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ อาจเพราะเป็นคนอ้วนรึเปล่าค่ะ แต่ดิฉันก็สูงนะค่ะ และมั่นใจว่าตัวเองมีบุคคลิกที่ดีในระดับหนึ่งค่ะ เรื่องบุคคลิกนี่เพื่อนก็บอกมา หรืออาจเป็นเพราะงานที่ดิฉันเลือกต้องใช้ความคล่องตัวที่สูงมาก คือดิฉันอยากทำงานด้านประสานงาน ดิฉันเคยผ่านการฝึกงานประสานงานมาแล้ว อาจารย์คิดว่าถ้ามุ่งมั่นต่อไปจะได้ทำงานด้านนี้มั้ยค่ะ หรือว่าต้องแก้ไขอะไรใหม่ ถ้าเป็นเรื่องความอ้วนดิฉันกำลังลดน้ำหนักค่ะ อีกอย่างจากการไปสัมภาษณ์มาคือ เรื่องไม่มีประสบการณ์ด้านการทำงานค่ะ เวลาที่แก้ปัญหาเรื่องอ้วนไปได้ เรื่องนี้มักจะเป็นปัญหา อยากจะตอบเหลือเกินค่ะว่าถ้าคุณไม่ให้ดิฉันทำงานด้วยแล้วดิฉันจะมีประสบการณ์ได้อย่างไร อาจารย์คิดว่าถ้าดิฉันตอบแบบนี้จะดูก้าวร้าวไปไหมค่ะ หรืออย่างไรดิฉันขอคำแนะนำด้วยคะ อีกนิดนะค่ะ เรื่องการขอเงินเดือนนี่ ต้องดูกำลังของบริษัทผสมกับการทำงานของเราด้วยใช่มั้ยค่ะ เพราะเคยไปขอเงินเดือนหมื่นกว่าๆ กับบริษัทที่เพิ่งเปิดได้ 6เดือน อยากทราบว่ามันเกี่ยวกันมั้ยนะค่ะ
ขอบคุณค่ะ
จากคุณ : วุ้น
A : : การพิจารณาโดยบริษัทว่าจะรับใครเข้าทำงานมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการเลือก เช่น ความรู้ การศึกษา ประสบการณ์ และบุคลิกภาพ ซึ่งถ้าจะพิจารณาแล้ว 2 ใน 3 ปัจจัยยังไม่ใช่จุดขายของหนู แต่ปัจจัยที่ขายได้ก็คือการศึกษา ถ้าหากหนูคิดว่าเรื่องความอ้วนคืออุปสรรคในการได้งาน ส่วนเรื่องที่เขาบอกว่าเราไม่มีประสบการณ์ก็จริงอยู่ ควรเลือกสมัครงานที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงานมากนักเพราะจะทำให้สู้คนที่มีประสบการณ์มาก่อนไม่ได้ แต่ควรเลือกงานที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์มาก อย่างเช่นที่ระบุว่าประสบการณ์ 0-2 ปีก็ควรสมัครเพราะแสดงว่าเขายืดหยุ่นในเรื่องนี้ ส่วนการตอบคำถามว่าเราไม่มีประสบการณ์มาก่อนหนูควรบอกว่าทุกคนก็เริ่มจากศูนย์กันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าหนูจะไม่มีประสบการณ์แต่ความสามารถของหนูคืออะไรบ้าง ให้ชี้แจงลงไปและสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับบริษัทอย่างไร สรุปท้ายว่าหวังว่าเขาคงให้โอกาสในการเรียนรู้กับเราเป็นต้น อย่าเพิ่งท้อค่ะ เรื่องเงินเดือนถ้ายังไม่ต้องระบุตั้งแต่แรกจะดีกว่าไว้ให้เขารับเราจริงๆ แล้วค่อยเจรจาต่อรองก็ได้ไม่ต้องรีบบอก โชคดีค่ะ
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com
Q : : เรียนถามอาจารย์ครับ ไม่ทราบว่ามีวิธีคำนวณการปรับเงินเดือนประจำปีกี่วิธี และมีวิธีการคำนวณอย่างไร เพราะว่าเพิ่งไปเริ่มงานใหม่ทางเจ้านายให้ทำรายงานส่ง แต่ที่ผ่านมาทางบริษัทไม่ได้จัดทำการประเมินพนักงานเลยไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนมาทำการปรับเงินเดือน
ขอบพระคุณมากครับ
จากคุณ : ตาวอ
A : : ถ้ายังไม่มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีมาก่อน การปรับเงินเดือนประจำปีมักใช้เกณฑ์ความรู้สึกของผู้บริหารเป็นหลัก ซึ่งเมื่อตัดสินใจว่าจะให้ขึ้นเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ก็จะถือปฏิบัติตามนั้นทั้งบริษัท สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการขึ้นเงินเดือนว่าควรจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์มักใช้ตัวชี้วัด 2-3 อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของธุรกิจตัวเองเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา และสำรวจตลาดว่าบริษัทอื่นๆ เขาขึ้นกันเท่าไหร่เพื่อจะได้เทียบเคียงกับตลาดภายนอกหรือคู่แข่ง เป็นต้น
ตอบคำถามโดย : คุณ อารี เพ็ชรรัตน์ / ที่มา : คอลัมน์ Career Advice จาก www.Nationejobs.com